Conventure  รับสร้างบ้านสวย คุณภาพคุ้มค่า ราคายุติธรรม

20 JUL
อย่ามองข้าม ตำแหน่งไฟ และปลั๊กไฟแต่ละจุดภายในบ้าน

อย่ามองข้าม ตำแหน่งไฟ และปลั๊กไฟแต่ละจุดภายในบ้าน

 

การสร้างบ้านสักหลังนั้น นอกจากเจ้าของบ้านจะต้องให้ความใส่ใจในทุกขั้นตอนและรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบบ้าน โครงสร้างบ้าน วัสดุที่ใช้สร้างบ้านแล้ว ระบบสาธารณูปโภคอย่างระบบน้ำและระบบไฟฟ้าก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลาย ๆ ท่านอาจละเลยและมองข้ามตำแหน่งไฟและปลั๊กไฟแต่ละจุดภายในบ้านจนกลายเป็นปัญหากวนใจเมื่อยามต้องใช้งานขึ้นมาจริง ๆ จนต้องเสียเงินติดตั้งเพิ่มภายหลัง เราจึงมีเคล็ดลับดี ๆ เกี่ยวกับการออกแบบและติดตั้งตำแหน่งไฟและปลั๊กไฟแต่ละจุดภายในบ้านมาฝากกันเพื่อให้ทุกท่านสามารถนำไปใช้เป็นแนวและปรับใช้ภายในบ้านของท่านเพื่อความสะดวกสบาย ปลอดภัย สวยงาม และความเป็นระเบียบเรียบร้อย

 

ปลั๊กไฟและตำแหน่งของปลั๊กไฟ

 

แม้ในขั้นตอนการนำเสนอแบบร่าง ผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้านจะมีการกำหนดตำแหน่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ พร้อม ๆ กับตำแหน่งของปลั๊กไฟที่อิงจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นมาให้คุณเป็นที่เรียบร้อย ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์บ้างในบางครั้ง ดังนั้น เจ้าของบ้านควรติดตั้งปลั๊กไฟเผื่อไว้สำหรับการเปลี่ยนตำแหน่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการเพิ่มอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจมีมากกว่าในแบบ โดยพิจารณาเดินปลั๊กเผื่อการใช้งานในอนาคตตั้งแต่ในขั้นตอนการสร้างบ้าน เพราะจะได้ไม่ต้องต่อสายพ่วงให้ดูเกะกะและอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้ และอย่าลืมวางตำแหน่งของปลั๊กไฟในจุดที่ปลอดภัย แสงแดดส่องไม่ถึง ห่างจากบานหน้าต่างอย่างน้อย 10 เซนติเมตรเพื่อป้องกันความร้อน ความชื้น หลีกเลี่ยงปัญหาน้ำฝนซึมเข้ามาได้ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการชำรุด โดยเฉพาะปลั๊กไฟในห้องน้ำ ลานจอดรถ หรือบริเวณนอกบ้าน ควรเลือกปลั๊กไฟแบบมีฝาปิด สำหรับตำแหน่งหรือความสูงที่เหมาะสมของปลั๊กไฟภายในบ้านจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามการใช้งาน ดังนี้

  1. ความสูง 30 เซนติเมตรจากพื้น เป็นตำแหน่งปลั๊กไฟสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าหนัก ๆ และอุปกรณ์ที่ไม่ต้องการให้เห็นปลั๊ก เช่น พัดลม โทรทัศน์ เครื่องเสียง โคมไฟข้างเตียง ฯลฯ
  2. ความสูง 80 เซนติเมตรจากพื้น เป็นระดับที่สูงกว่าโต๊ะทำงานเล็กน้อย เหมาะสำหรับอุปกรณ์ที่ต้องการความสะดวกในการใช้งาน เช่น ที่ชาร์ตโทรศัพท์มือถือหรือแล็ปท็อป เพื่อความสะดวกเวลาใช้ไม่ต้องก้ม และไม่ห่วงว่าเด็ก ๆ จะใช้นิ้วแหย่ปลั๊กไฟ
  3. ความสูง 110 เซนติเมตรจากพื้น เป็นตำแหน่งสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ใหญ่นักและไม่มีเฟอร์นิเจอร์มาบัง และเหมาะสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่

 

 

สวิตช์ไฟและตำแหน่งของสวิตช์ไฟ

 

ตำแหน่งของสวิตช์ไฟที่เหมาะสมควรติดตั้งอยู่ใกล้กับประตูเข้า-ออกเพื่อความสะดวก โดยเว้นระยะห่างจากประตูประมาณ 10 เซนติเมตรเพื่อให้เวลาเปิดประตูเข้าไปแล้วจะสามารถเอื้อมมือไปเปิดสวิตช์ไฟได้เลย และควรแยกสวิตช์สำหรับไฟหลักแต่ละดวงเผื่อในกรณีที่ไม่ต้องการใช้ไฟหลักหลายดวงพร้อมกัน โดยไม่ควรจัดให้แป้นสวิตช์ปิด-เปิดอยู่รวมกันมากเกินกว่า 4-6 สวิตช์เพื่อป้องกันความสับสน ในกรณีที่ต้องการใช้สวิตช์สองทางหรือสวิตช์หรี่ไฟ (Dimmer) ควรมีการวางแผนและแจ้งช่างไฟล่วงหน้า สำหรับความสูงที่เหมาะสมในการวางตำแหน่งของสวิตช์ไฟควรอยู่สูงจากพื้นประมาณ 90 เซนติเมตร เพราะเป็นความสูงที่เหมาะกับส่วนสูงและสรีระเฉลี่ยของคนทั่วไป ไม่ต้องก้มหรือเขย่งเมื่อต้องเปิด-ปิดไฟ

 

การติดตั้งสายดินเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เจ้าของบ้านมักไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่อย่าลืมว่าอันตรายจากการใช้ไฟฟ้าสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและอาจนำมาซึ่งการสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต สายดินจึงมีไว้เพื่อป้องกันและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า โดยเมื่อมีการติดตั้งสายดินแล้วและเกิดไฟรั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟส่วนที่รั่วนี้จะไหลลงดินผ่านทางสายดินที่ติดตั้งไว้ โดยไม่ผ่านร่างกายผู้สัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น สายดินจึงไม่เพียงแค่ป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ถูกไฟฟ้าดูดเท่านั้น แต่ยังช่วยถนอมอายุการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกด้วย ดังนั้น เจ้าของบ้านจึงควรใส่ใจเรื่องของสายดิน โดยจัดให้มีการติดตั้งระบบสายดินอย่างถูกต้องตามมาตรฐานเพื่อให้ความปลอดภัยและใช้งานได้จริง ทั้งนี้ หากทุกท่านนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปใช้ รับรองว่าบ้านของท่านจะเป็นบ้านที่สวยงาม ปลอดภัย สะดวกสบายอย่างแน่นอน

สอบถามข้อมูลการให้บริการรับสร้างบ้านกับ Conventure ได้ที่

Tel: 02 046 0300 – 3 ต่อ 11

Line ID: @conventure (มี @ นำหน้า)

Link: https://www.conventure.co.th/